มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

ครอบครัว....ความรัก....และความรุนแรง (ตอน) ชีวิตคู่

15 ธันวาคม 2563
ครอบครัว....ความรัก....และความรุนแรง (ตอน) ชีวิตคู่

เรียนอาจารย์อรอนงค์ที่นับถือ ดิฉันและสามีแต่งงานอยู่กินกันมา 38 ปี ค่ะ สามีรับราชการเป็นหัวหน้าหน่วยงานแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน เกษียนมาได้กว่าห้าปี แล้วค่ะ ดิฉันอายุ 62 ปี บั้นปลายของชีวิตก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเกิดปัญหาและทุกข์ทรมานใจมาก คุณสามีมีภรรยาอีกคน อายุอ่อนกว่าสามีดิฉันกว่า 40 ปี


หล่อนคลอดลูกได้ประมาณสองเดือนสามีก็ทิ้งไป ทราบว่าสามีดิฉันเข้าไปปลอบโยนและพาไปเที่ยวยังที่ต่าง ๆ ต่อมาก็มีอะไรกันจนเกือบปีแล้ว ดิฉันและลูกขอร้องให้สามีออกไปอยู่กับผู้หญิงคนใหม่ เขาไม่ยอมไป ลูกหญิง-ชายของดิฉันเรียนจบปริญญาโททั้งคู่ มีหลานแล้วค่ะ

ขณะนี้ดิฉันเจ็บช้ำน้ำใจมาก  ร้องไห้ทุกครั้งที่สามีไปหาผู้หญิงคนนั้น (ที่ภาคอีสาน) ทุกเดือนประมาณ เจ็ดถึงแปดวัน ดิฉันก็เลยแยกบ้านมาอยู่ลำพัง ภายในรั้วเดียวกัน ไม่พูดกัน อาจารย์ได้รับทราบปัญหามามากมาย คงจะมีอะไรแนะนำดิฉันได้ นอกจากสวดมนต์ ทำใจ รอเวลา คือทำมาทุกอย่างก็ยังไม่หายทุกข์ใจค่ะ ขณะนี้เลี้ยงหลานวัยสิบเดือน  เวลาเหนื่อยและเบื่อกับปัญหาชีวิต ก็จะร้องไห้เหมือนสติแตก เป็นอย่างนี้มาเกือบปีแล้วค่ะ คงต้องกราบขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยนะคะ

  1. อาจารย์มีวิธีไหนบ้างคะที่จะช่วยดับทุกข์ของดิฉันให้หมดไปโดยเร็ว
  2. คิดว่าโลกนี้ช่างไม่ยุติธรรม ทำไมผู้ชายถึงมีแต่ความสุข จะทำอย่างไรให้เขาได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจเหมือนเราได้บ้าง
  3. กว่าชีวิตจะมาถึง 38  ปี ก็ลำบากทุกข์ยากกันมาตลอด พยายามคิดว่าไม่เป็นไร “เรือล่มเมื่อจอด” เราได้ขึ้นฝั่งแล้ว “ตาบอดเมื่อแก่” ก็ไม่เป็นไรเพราะเห็นอะไรมาแยะแล้ว แต่จะทำอย่างไรดีคะ ขณะนี้สามีไม่รักแล้วค่ะ อยากหลับแล้วไม่ตื่นอีกเลย อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยนะคะ

คิดทบทวนมาหลายวัน  ทั้ง  ๆ  ที่เกรงใจอาจารย์เหลือเกิน  แต่เพราะขณะนี้ชีวิตมันมืดมนไปหมดไม่ทราบจะพูดกับใคร  ก็คงต้องขอพึ่งนักจิตบำบัดอย่างอาจารย์ช่วยนะคะ  นี่ก็เกือบปีแล้ว แทนที่ความทุกข์ ความเจ็บช้ำน้ำใจจะลดลง กลับเพิ่มมากขึ้น  อาจารย์กรุณาช่วยด้วยนะคะ”

ปัญหานี้คงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผู้หญิงไทยทุกยุคทุกสมัยต้องเผชิญ  เพราะกฎหมายไทยยังไม่เอื้อให้ผู้หญิงได้รับการปกป้องอย่างยุติธรรม  เมื่อสามีทอดทิ้งหรือไม่รับผิดชอบครอบครัว  ฝ่ายหญิงหรือภรรยาแม้จะจดทะเบียนสมรสและอยู่กินมานานขนาดไหนดังในกรณีนี้   หรือมีเรื่องฟ้องร้องให้ฝ่ายชายจ่ายค่าเลี้ยงดูส่งเสียภรรยาและลูก แต่หากฝ่ายชายไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ก็ไม่มีใครหรือกฎหมายฉบับไหนมาช่วยจัดการลงโทษฝ่ายชายได้  ผู้หญิงต้องเผชิญสถานการณ์ตามลำพัง   

ที่สำคัญในสังคมไทยที่ยังให้ความสำคัญกับผู้ชายในฐานะผู้นำครอบครัว ผู้นำชุมชน  หรือคาดหวังว่า  ผู้ชายจะต้องดูแลปกป้องการดำเนินชีวิตในครอบครัวให้ภรรยาและบุตรได้  แต่ผู้หญิงเป็นผู้ตามแม้จะมีงานการของตัวเองทำ ยังต้องดูแลรับผิดชอบงานในบ้านและอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกคนในครอบครัว  หากหญิงใดหลีกเลี่ยงหรือไม่ปฏิบัติตามความคาดหวัง  ก็จะถูกมองว่าบกพร่องหน้าที่ของการเป็นภรรยาและแม่ที่ดี  หรือหากหญิงใดไปเกี่ยวข้องเชิงชู้สาวกับชายที่มิใช่สามี เธอก็จะถูกประณามว่ามีชู้ หรือประพฤติมิชอบ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของครอบครัว แต่หากฝ่ายชายประพฤติมิชอบดังกล่าว ผู้คนส่วนใหญ่จะมองข้ามหรือพิจารณาว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ชาย! 

นั่นคือสังคมไทยสามารถยอมรับความบกพร่องผิดพลาดของฝ่ายชาย ได้มากกว่าผู้หญิงโดยเฉพาะในเรื่องชู้สาว ด้วยทัศนคติและความเชื่อในสังคมไทยดังกล่าว  ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่จะต้องดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง  โดยเฉพาะการเลือกคู่ครองที่ดูจะมีความเสี่ยงสูงจากพฤติกรรมมากชู้หลายเมียของชายไทย  ดังในกรณีของคุณผู้หญิงท่านนี้  ซึ่งท่านบอกว่าได้ใช้ชีวิตคู่กับสามีมากว่า 38  ปี ตั้งแต่ชีวิตเริ่มต้นด้วยความยากจน  เมื่อสามีออกจากบ้านไปทำงาน  ภรรยาต้องจัดการดูแลเรื่องการกินอยู่  พาลูก ๆ ไปส่งโรงเรียน ช่วงที่ลูกอยู่โรงเรียนแม่ก็ต้องทำความสะอาดบ้านเรือน ซักรีดเสื้อผ้าของทุกคน ได้เวลาไปรับลูก ๆ กลับ ช่วยสอนการบ้านและทำอาหารเย็นไว้สำหรับทุกคนตอนเย็น  แน่นอนหากชายใดไม่มีครอบครัวและต้องทำงานย่อมหลีกเลี่ยงหน้าที่เหล่านี้ไม่พ้น ซึ่งเป็นการยากที่จะสร้างความก้าวหน้าโดยไม่มีคนที่บ้านคอยส่งเสริมสนับสนุนเป็นกำลังใจและให้ความช่วยเหลือ

การที่ผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจแต่งงานอยู่กินกับสามี และทุ่มเทวันเวลาที่เหนื่อยยากเพื่อสร้างครอบครัวด้วยความรัก ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา และที่สำคัญคือด้วยความหวังว่า  สุดท้ายบั้นปลายชีวิตของเธอจะมีความสุขสงบ  หลังจากความเหนื่อยยากในการต่อสู้กับชีวิตอย่างเหน็ดเหนื่อย  และหากชีวิตคือสงคราม  เธอและสามีก็ได้ผ่านการต่อสู้ในศึกสงครามมาอย่างโชกโชน และพบว่า “เราทั้งสองมีชัย” ชีวิตครอบครัวมั่นคง ลูก ๆ เรียนจบการศึกษาระดับสูงมีรางวัลชีวิตคือหลานเล็ก ๆ ไว้หล่อเลี้ยงหัวใจ  ส่วนเธอในฐานะของคนที่เป็นแม่และเป็นภรรยา  ความทุกข์ยากลำบากในการดำเนินชีวิตไม่ต่างจากสามี  และอาจจะมากกว่าเพราะเธอต้องทำหลายหน้าที่ ต้องเก็บรายละเอียดมากมาย ทุกชีวิตในครอบครัวขึ้นอยู่กับเธอผู้เป็นแม่เป็นหลัก เพราะฉะนั้นย่อมเป็นเรื่องปกติหากเธอจะหวัง จะรอคอยวันเวลาที่เธอจะได้ลงนั่งพักผ่อน  ได้กำลังใจและความเอื้ออาทรจากชายที่เธอรักมาตลอดชีวิต เธอหวังว่าบั้นปลายชีวิตเขาจะยังซื่อสัตย์ต่อเธอเหมือนที่ผ่านมา  เช่นเดียวกับที่เธอผูกจิตมั่นคงต่อเขาเสมอมา เธอไม่เคยคิดว่า เขาจะเปลี่ยนใจไปเป็นอื่น!

ดูเหมือนความหวัง ความสุข ความภาคภูมิใจที่เก็บสะสมไว้ตลอดหลายปีพร้อม ๆ กับความทุกข์ยากของการดำเนินชีวิต ที่เธอไม่เคยคาดคิดมาก่อน ว่าสามีจะมีผู้หญิงใหม่วัยอ่อนกว่า 40 ปี และรับเลี้ยงดูลูกอ่อนของเธอเหมือนกับเป็นลูกของเขาเอง  สามีของเธอไม่ได้มีความรังเกียจ ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างใด ๆ เขาเพียงต้องการจะทำให้สองคนแม่ลูกนั่นมีความสุข!  แล้วเธอล่ะเขาคิดอย่างไร?

 ผู้หญิงหลายคนที่ผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกับคุณผู้หญิงท่านนี้ บอกเล่าถึงความรู้สึกของเธอว่า  “มันเหมือนเรากำลังปีนภูเขาสูงชัน และเมื่อถึงหน้าผาแห่งนั้น ทันใดเราก็พลัดหงายหลังร่วงหล่นลงสู่ผืนดิน ร่างกายกระแทกพื้น เรารู้ตัวเลยว่า ทั้งร่างกายและหัวใจของเราแตกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มันแหลกละเอียดเกินกว่าจะหยิบขึ้นมาปะติดปะต่อกลับคืนได้เหมือนเดิม”  ความสูญเสียครั้งนี้ของคุณผู้หญิงท่านนี้ก็คงไม่ต่างกันนัก แต่หากจะมองในฐานะของคนที่ผ่านชีวิตมามากกว่าหกสิบปี  ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนนับครั้งไม่ถ้วน เราคงจำได้ว่าพุทธศาสนาสอนให้เราได้ตระหนักว่า “ชีวิตคือความเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงคือการเจริญเติบโต” เพราะฉะนั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ย่อมเป็นธรรมดาโลก หากเราไปยึดติด ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง  จิตใจเราย่อมมีแต่ความทุกข์   จริงอยู่นี่เป็นความผิดหวังที่ “เธอ” ไม่ควรได้รับ เมื่อนับวันเวลาแห่งความทุกข์ยากที่เธอได้ลงทุนไปในการแต่งงานอยู่กินกับสามีจนมีลูกหลานถึงวันนี้  แต่สามีของเธอเองก็คงไม่ได้วางแผนหรือคาดคิดมาก่อนว่า เขาจะได้พบผู้หญิงอ่อนวัยที่ปลายอุโมงค์ของชีวิต และไม่ใช่ว่าเขาจะหมดรักภรรยาและลูกหลาน  คแต่ด้วยกิเลสและตัณหา หรือว่าบุญกรรมนำชักให้เขาได้พบกับแม่ลูกคู่นี้จนมีความปรารถนาจะส่งเสียดูแลทั้งสองคนให้อยู่รอดปลอดภัย  ในขณะที่เขาอาจมองว่า ตัวเขาเองก็ได้ทำให้ภรรยามีทุกอย่างที่ต้องการ เป็นความมั่นคงของชีวิต  โดยเฉพาะชีวิตที่มีทั้งลูกและหลานพร้อมเพรียงแล้ว หากเขาจะต้องการรางวัลส่วนตัวบ้าง เหมือนของหวานชิ้นเล็ก ๆ หลังอาหารมื้อเย็น  คงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหรือบอกกล่าวภรรยาและลูก!

แน่นอน.....บนเส้นทางของการดำเนินชีวิตที่แม้จะใช้ชีวิตร่วมกัน อยู่บ้านเดียวกัน นอนเตียงเดียวกัน  แต่เส้นทางที่ยุ่งยากด้วยภาระหน้าที่ จนทำให้สองสามีภรรยาเหมือนต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเดิน ต่างเวลาและห่างเหิน  เธอจึงเรียกร้องที่จะได้ช่วงแห่งวันเวลาที่อาจตกหายหรือก้าวข้ามไปให้หวนคืนมา ทว่า.....ฝ่ายภรรยาก็ต้องผิดหวัง  เมื่อสามีเปลี่ยนไป  หรืออย่างน้อยเขาก็ได้ดึงผู้หญิงอีกคนหนึ่งมาร่วมเดินทางและเติมเต็มความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปในชีวิต แทนที่จะเป็นเธอ ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ภรรยาผู้ร่วมทุกข์  ร่วมสุข” กันมากว่า  38 ปี

ท่ามกลางความทุกข์จากความสูญเสียครั้งนี้ นอกจากเธอยังทำใจยอมรับไม่ได้แล้ว ยังเป็นความโกรธ อาฆาตพยาบาท และความอิจฉาที่สามีสามารถมีความสุขได้โดยไม่มีเธอ เพราะฉะนั้น อารมณ์และความรู้สึกของเธอจึงดำดิ่งลงสู่ความมืดมิดมากกว่าความสูญเสียทั่วไป  เธอรู้สึกว่าผลจากการกระทำของเขา  หรือการที่เขาเลือกจะมีความสุขกับภรรยาวัยเด็กของเขา  เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมสำหรับเธอ จนเธออยากให้สามีได้รับความเจ็บช้ำเช่นเดียวกับเธอ

คุณผู้หญิงท่านนี้ต้องการให้ผู้เขียนช่วยดับทุกข์ของเธอ ในฐานะของนักจิตบำบัดซึ่งสามารถทำได้ด้วยความร่วมมือของผู้มีปัญหา คือตัวเธอ การช่วยให้เธอได้ทบทวน มองเห็น และตระหนักในคุณค่าของ “ความรัก” ที่เธอมีต่อสามีเมื่อเริ่มรู้จักกันใหม่ ๆ จนนำไปสู่การผูกสมัครรักใคร่และตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ด้วยฐานะทางครอบครัวที่ยากจนเริ่มต้นรับราชการใหม่ ๆ คำถามคือหากเธอสามารถเดินย้อนกลับไปวัยเริ่มต้นอีกครั้ง  ทั้ง ๆ ที่มองเห็นความทุกข์ยากที่รออยู่ในอนาคตขณะนี้แล้ว เธอจะยังรักและต้องการแต่งงานกับเขาอยู่หรือไม่  เธอจะเลือกทางนี้ไหม?

แน่นอน...หากเธอมองเห็นและรับรู้แล้วว่า ผลจากการตัดสินใจของเธอในการใช้ชีวิตคู่กับสามี มีความเหนื่อยยากแสนเข็ญรออยู่ และสุดท้ายเขาก็จะมีรักใหม่กับคนใหม่เพิ่มขึ้นมา  เธออาจตอบว่าเธอคงเลือกจะไม่แต่งงานกับเขา เพราะสุดท้ายคือการเปลี่ยนใจ คือความทุกข์ใจอันมากมายที่รอเธออยู่ ถึงขณะนี้ที่เธอแทบไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป อยากหลับไปเลยเฉย ๆ แต่เธอลืมไปหรือเปล่าว่า  หากเธอไม่เลือกแต่งงานกับสามีหรือตัดใจไม่ใช้ชีวิตคู่กับเขา  เธอก็ต้องแลกด้วยลูกสองคน  และหลานอีกหลายคน ที่น่ารักและรักแม่รักย่ายายของเขามาก  เธอจะทำใจเลิกรักและเลิกที่จะมีลูกหลานกับสามีได้หรือ? เพียงเพราะเธอทนความบาดเจ็บสูญเสียในครั้งนี้ไม่ได้ เธอจึงอาจต้องแลกด้วยคนใกล้อีกหลายคน  แน่นอน...เพราะมีสามี จึงมีลูกสองคนนี้  จึงมีหลานเหล่านี้  จึงมีความทุกข์ที่ผ่านมาและความสุขอีกมากมายระหว่างทางเดินของชีวิต  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนั้น  สัมพันธ์กันตามลิขิตแห่งกรรมที่เราจะเลือกรับเอาเฉพาะเรื่องดี ๆ มีแต่ความสมหวังคงเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากผลแห่งการกระทำของเราเองทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันทั้งนั้น   ชีวิตจึงประกอบด้วยเรื่องดีและไม่ดี มีสมหวังและผิดหวัง เราทุกคนจึงต่างต้องเรียนรู้ในการเผชิญกับความสมหวังและผิดหวังไปพร้อม ๆ กัน

เพราะฉะนั้นการจะบรรเทาความทุกข์ร้อนเจ็บปวดให้น้อยลง  ก็ต้องเริ่มด้วยการยอมรับความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นไปตามธรรมชาติ  หากที่ผ่านมาเป็นเรื่องของ “กรรมลิขิต” เราไม่ได้ลิขิตเอง  แต่เมื่อชีวิตดำเนินตาม “พรหม” หรือ “กรรมลิขิต”มาแล้วเราไม่พอใจ  เราทุกข์ใจและไม่อยากตกอยู่ในสภาพนี้ต่อไป เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงด้วยการกำหนดชะตากรรมปัจจุบันและอนาคตต่อไปได้  นั่นคือ “จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรให้ทุกข์น้อยที่สุด” จะทำอย่างไรให้ความเจ็บปวดทั้งปวงละลายหายไป.....!

ที่ผ่านมา เธอตระหนักว่าเพราะรักสามีมาก จึงทุกข์มากเมื่อรู้ว่าเขาเปลี่ยนไป” ... เธอไม่อยากให้เขารักหญิงอื่น นอกจากเธอ  แต่เขาก็ยอมรับแล้วว่าเขามีผู้หญิงอีกคน  จึงทำให้เธอ/ภรรยาเสียใจทุกข์ใจจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป  ทั้งที่วันเวลาแห่งความสงบสุขในช่วงปลายชีวิตได้เริ่มขึ้นแล้ว บางทีเธออาจต้องลดความรักที่มีต่อเขาให้น้อยลง  และหันมาให้ความรักแก่ตนเองให้มากขึ้น  หรือรักเขาอย่างที่เขาเป็น แต่ไม่คาดหวังจะให้เขารักตอบอย่างที่เราต้องการ ขอเพียงให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับใครก็ได้  เพียงรู้ว่าจะทำให้ชีวิตของเขามีความสุข เราก็พอใจ 

ทำได้ไหม?

ที่สำคัญ “ความรัก”เป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะ “ให้” เมื่อเห็นคนที่เรารักเป็นสุขเราก็สุขด้วย และการให้ใด ๆ ก็ไม่มีค่าเท่ากับการ “ให้อภัย” อภัยให้ในสิ่งที่เขาได้ทำร้ายเราโดยไม่ตั้งใจ การที่สามีเธอไม่ยอมย้ายออกไปอยู่กับภรรยาใหม่  ก็เพราะเขายังรักยังต้องการภรรยาและลูกหลานอยู่  เขาอาจต้องการเวลาเพียงไม่นานในการจัดการเรื่องราวกับหญิงสาวคนนั้นให้เสร็จสิ้นก่อน  ขอเพียงภรรยาเข้าใจ ให้อภัยเขาก็เหมือนให้อภัยตนเอง และให้เวลาเขาแก้ไขปัญหา ให้เวลาตนเองในการเยียวยาจิตใจ เพื่อตัวเธอและทุกคนในครอบครัวจะได้ก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็งและมั่นคง


กลับด้านบน