มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

ครอบครัว....ความรัก....ความรุนแรง (ตอน) ในความเงียบ

15 ธันวาคม 2563
ครอบครัว....ความรัก....ความรุนแรง  (ตอน) ในความเงียบ

สวัสดีค่ะอาจารย์อรอนงค์ หนูชื่อเปลว อายุ 19 ปี เป็นลูกสาวคนโตครอบครัวจีน พ่อแม่หนูฐานะไม่ดี พ่อทำงานบริษัทเอกชน แม่รับจ้างเย็บเสื้อผ้าที่บ้าน ตอนเล็ก ๆ พ่อแม่ส่งหนูไปอยู่กับปู่ย่าและอาผู้หญิงอีกบ้านหนึ่ง จนอายุ 12 ขวบ พ่อแม่จึงรับกลับมาอยู่ด้วย ครอบครัวหนูมีพ่อแม่และน้อง ๆ อีกสามคน เมื่อกลับมาแม่ก็ให้น้องสอนหนูทำงานบ้าน เพราะอยู่กับปู่ย่า หนูเป็นหลานคนเดียวไม่ต้องทำอะไร มีแต่คนคอยทำให้ หนูก็คิดว่าเพราะหนูถูกเลี้ยงมาอย่างนั้น เมื่อกลับมาบ้านต้องทำงาน จึงคิดว่าพ่อแม่รับกลับมาเพื่อใช้งานบ้าน เขารอหนูโตพอจะทำงานได้แล้ว หนูจะรู้สึกไม่ดีกับพ่อแม่มาก ยิ่งแม่เป็นคนเครียดมากพูดดี ๆ ไม่ค่อยเป็น พ่อดื่มเหล้าวันเว้นวัน เมามาก็ด่ากราดกับลูกทุกคน หนูเคยโดนพ่อเรียกมานั่งด่าตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง หนูกลัวมากไม่กล้าขยับไปไหน และความกลัวก็เลยกลายเป็นความเกลียดเรื่อยมา เกลียดพ่อเกลียดแม่ ไม่อยากอยู่บ้าน อยากหนีไปไกล ๆ จนถึงคิดที่จะฆ่าตัวตายเพื่อหนีครอบครัว  ถึงวันนี้หนูก็ยังคิดอยู่เสมอแต่ไม่เคยบอกใคร


ตอนนี้หนูเรียนจะขึ้นปีสองมหาวิทยาลัยปิดมีชื่อแห่งหนึ่ง เป็นคณะที่ดีและมีหลายคนต้องการ แต่ตอนที่หนูเลือก หนูเลือกจะไปเรียนที่เชียงใหม่อันดับหนึ่ง พอรู้ว่าไม่ติดหนูร้องไห้หลายวัน วิชานี้หนูก็เรียนได้ดีเพราะตั้งใจว่าจบเมื่อไหร่จะได้ออกหางาน และออกจากบ้านไป  เรื่องเรียนจึงเป็นกำลังใจสิ่งเดียวที่ฉุดหนูไม่ให้คิดฆ่าตัวตายจริง ๆ ได้ทุกครั้ง ทุกวันนี้หนูมีความรู้สึกโศกเศร้าอยู่เสมอ ๆ กับพ่อแม่ถ้าไม่เพราะต้องขอเงินแล้วหนูก็ไม่เคยพูดด้วยเลย หนูก้มหน้าก้มตาทำงานที่เขาสั่งแล้วก็หลบไปอ่านหนังสือเงียบ ๆ ไม่ยุ่งกับใคร ไม่พูดกับน้อง หนูรู้ว่ามันแย่มาก รู้สึกเครียดตลอดเวลา ช่วงนี้ปิดเทอมไม่รู้จะหนีไปไหน มีญาติอยู่ต่างจังหวัดขอไปเยี่ยมบ้าง พ่อก็ไม่ให้ไปกลัวเป็นอันตราย หนูอายุ
19 ปีแล้วยังไม่ยอมให้หนูไปต่างจังหวัดบ้างเลย หนูรู้สึกเครียด ทุกข์ใจ สับสนใจมาก ใจหนึ่งคิดว่าถ้าแก้ไขปัญหาไม่ได้ก็จะตายไปเสีย จะได้หนีปัญหา อีกใจหนูก็เสียดายโอกาส ถ้าเรียนจบจะได้ไปจากบ้านนี้ด้วยตนเอง ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าหนูคิดเรื่องฆ่าตัวตายเสมอ ที่เขียนมานี้ขอให้อาจารย์ช่วยตอบด้วยค่ะ ไม่ต้องตอบไปที่บ้านหรอกค่ะ เพราะพ่อแม่คงรับไม่ได้ที่หนูจะไปปรึกษาปัญหาชีวิตกับใคร เขาไม่เข้าใจหรอกค่ะ ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ”

 

ฟังเรื่องราวของหนูเปลวที่เล่าไปแล้ว ทำให้ตระหนักมากขึ้นถึงอิทธิพลของฮอร์โมน ที่นำความสับสนคับข้องใจ ความเครียดและอาการซึมเศร้ามาสู่วัยรุ่นในสังคมไทยทุกกระดับครอบครัว ที่สำคัญเมื่อเด็ก ๆ  วัยรุ่นมีความเครียดจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและสิ่งแวดล้อม สังคมไทยยังขาดผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ (Counselor) หรือครูแนะแนวในโรงเรียน ตลอดจนนักวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาที่จะคอยให้ความช่วยเหลือแนะนำในยามที่ต้องการหรือมีปัญหา รวมทั้งพ่อแม่ในครอบครัวทั่วไปก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ไม่รู้จะระบายกับใคร ครั้นจะพูดคุยกับลูกดี ๆ ก็พูดไม่เป็น กลายเป็นการบ่นว่าด่าทอด้วยภาษาที่ไม่สุภาพ ทำให้วัยรุ่นยิ่งโกรธ กลัวและถอยห่างไป


นอกจากนั้นวัยรุ่นในสังคมไทย ยังขาดสถานที่ซึ่งจะใช้ในการออกกำลังกายหรือพักผ่อน พบปะทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ แทนการไปแข่งรถจักรยานยนต์ยามดึกหรือมั่วสุมกันเสพยา ฯลฯ เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นจึงมีให้เห็นทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะเด็กที่ถูกปฏิเสธจากครอบครัวและโรงเรียน แต่เด็กที่เรียนหนังสือเก่ง พฤติกรรมดี ก็มีปัญหาที่ต้องการความเข้าใจและคำอธิบายเช่นกัน

กรณีของหนูเปลว ถึงครอบครัวจะฐานะไม่ดี ทุกคนในครอบครัวต้องลำบาก แต่พ่อแม่พยายามอย่างที่สุดที่จะดูแลลูก ๆ เมื่อญาติผู้ใหญ่อยากแบ่งเบาภาระด้วยการรับเลี้ยงลูกสาว หรือรับไปอุปการะ เปลว ซึ่งเป็นลูกคนโตที่พอจะช่วยตนเองได้ จึงถูกส่งไปอยู่กับปู่ย่าและอาที่ต่างจังหวัด  ส่วนพ่อแม่ดูแลลูกเล็ก ๆ อีกสามคน เธอจึงเติบโตมาในครอบครัวที่เป็นลูกหลานคนเดียว พอกินพอใช้ไม่ต้องช่วยเหลือการงานญาติผู้ใหญ่  และเมื่อเธออายุได้ 12 ปี พ่อแม่จึงไปรับกลับมาอยู่ด้วย จะเพราะเป็นข้อตกลงหรือเพราะพ่อแม่ต้องการความช่วยเหลือจากลูกสาวคนโตให้มาช่วยดูแลน้องเล็ก ๆ อีกสามคนก็ตาม แต่ด้วยความเคยชินกับความสะดวกสบาย “เปลว” จึงไม่พอใจชีวิตในครอบครัวตนเอง  และคิดไปว่า  พ่อแม่ไปรับกลับเพราะต้องการจะใช้แรงงานของเธอ  ทำให้รู้สึกไม่ดีกับพ่อแม่มาก

ถึงหากจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็ไม่ใช่ความผิด เมื่อพ่อแม่ต้องทำงานในการหาเลี้ยงครอบครัวด้วยความยากลำบาก และต้องการให้ลูกสาวคนโตมาช่วยงานในบ้านและดูแลน้องๆ ที่กำลังเติบโตตามมา แต่อาจเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาในการพูดคุยอธิบาย หรือเพราะพูดสื่อสารดี ๆ ไม่เป็นทำให้ “เปลว” คิดไปเองในทางไม่ดีเกี่ยวกับพ่อแม่ และเพราะ “เปลว” ให้ความสำคัญกับชีวิตที่สะดวกสบายในครอบครัวญาติผู้ใหญ่ที่ผ่านมา จึงหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกขัดแย้งไม่เข้าใจปัญหาของพ่อแม่ ในขณะที่แม่มีความเครียดมากจนเหมือนกับพูดดี ๆ กับลูก ๆ ไม่เป็น พ่อก็เช่นกันปัญหาเศรษฐกิจการงานไม่ดีการเงินไม่คล่อง ต้องดื่มเหล้าย้อมใจ และใช้การดุด่าว่ากล่าวลูก ๆ แทนการแสดงความรักที่มีต่อคนในครอบครัว ทำให้สถานการณ์ในบ้านไม่น่าอยู่ โดยเฉพาะกับ “เปลว” เธอรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เป็นมิตร และมากกว่านั้นคือเธอเริ่มเกลียดพ่อแม่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้สึกอยากหนีไปจากครอบครัว ในความรู้สึกของคนที่เป็นลูกทุกคนนั้น อยากจะรักพ่อแม่ แต่ความเกลียดกลายเป็นภาระที่หนักเกินจะแบกรับ และเป็นเรื่องเจ็บปวดที่จะต้องเกลียดคนที่ตนอยากรัก!

ความเกลียดเป็นความทุกข์ทรมานที่ทุกคนอยากโยนทิ้ง หรือไม่ก็หนีไปจากความเกลียด แต่ “เปลวก็ไม่รู้จะหนีไปไหน นอกจากความตาย เธอคิดถึงเรื่องการฆ่าตัวตายเพื่อหนีไปจากครอบครัวเมื่อรู้สึกมีความทุกข์มาก ๆ แต่โชคดีที่เปลวพบว่า เธอเป็นคนเรียนเก่ง สอบได้คะแนนดีทุกครั้ง จนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยปิดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง  และพ่อแม่ก็ให้การสนับสนุนส่งเสียด้วยดี  ปีนี้เธออายุ 19 ปี และเรียนอยู่ปีสองในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น

ความจริงตอนสอบเข้าเรียน “เปลวเลือกมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดเพื่อจะได้ไปจากครอบครัว เมื่อไม่ได้ก็นอนร้องไห้อยู่หลายวันแต่เพราะเป็นคนชอบเรียน อยากเรียนให้จบไว ๆ จะได้หางานทำและออกจากบ้านพ่อแม่ไปอยู่เอง เรื่องเรียนจึงเป็นกำลังใจและเป็นสิ่งเดียวที่ฉุดรั้งเปลวไว้จากการฆ่าตัวตาย ทุกวันนี้เธอรู้สึกว่าตนเองมีความโศกเศร้าอยู่ตลอดเวลา กับพ่อแม่ถ้าไม่เพราะต้องขอเงินค่าขนมค่าเรียนแล้ว เธอก็จะไม่พูดด้วย สั่งให้ทำอะไรก็ทำ ทำเสร็จก็หลบไปอ่านท่องหนังสือเงียบ ๆ ไม่พูด ไม่ยุ่งกับน้อง ๆ ซึ่งยิ่งทำให้เธอเครียด เพราะในความรู้สึกลึก ๆ  “เปลวก็ตระหนักว่าเธอไม่ได้ทำตัวเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ซ้ำพ่อแม่ก็ดูจะไม่ตำหนิอะไรเธอ ยิ่งทำให้เปลวรู้สึกแปลกแยก

ช่วงที่มหาวิทยาลัยปิดเทอม เธอขออนุญาตพ่อไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัด พ่อไม่ให้ไปกลัวเป็นอันตราย  แต่ “เปลวโกรธและน้อยใจว่าตัวเองอายุ 19 ปี แล้วยังไม่เคยไปต่างจังหวัดเลย เธอไม่ได้ตระหนักถึงเหตุผลที่พ่อแม่ไม่อยากให้เธอไปต่างจังหวัดตามลำพัง เพราะเกรงจะมีอันตรายหรือมีปัญหาตามมา เปลวอาจไม่เคยคิดหรือพยายามจะเข้าใจว่า การที่พ่อแม่ต้องอยู่ในฐานะเคร่งเครียดจากการทำงาน เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งอาจจะต้องประหยัดและเป็นงานที่หนัก ไม่มีทั้งเวลาและเงินพิเศษจะจ่ายให้กับความเสียหาย  หากเกิดปัญหาขึ้น ทุกคนในครอบครัวอยู่อย่างประหยัดและระมัดระวังตนเอง ทุกคนหลีกเลี่ยงการต้องเผชิญปัญหาที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่เปลวกลับน้อยใจเสียใจและโกรธแค้น จนถึงกับอยากตายไปจากโลกนี้ แต่ก็คิดได้ว่า การเรียนและความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้าจะทำให้เธอสามารถพาตัวออกจากครอบครัวไปได้ การรอคอยด้วยความอดทนจึงเป็นสิ่งเดียวที่เหนี่ยวรั้งเธอไว้จากการฆ่าตัวตาย

กรณีของ “เปลว” ไม่ใช่จะรุนแรงถึงขนาดแก้ไขไม่ได้ เพราะการเรียนช่วยให้เธอมีสติยั้งคิดที่จะไม่ทำร้ายตนเอง เธอเพียงต้องการคำอธิบายอย่างชัดเจนถึงความรักความห่วงใยของพ่อแม่ ในฐานะที่เธอเป็นลูกสาวคนโต พ่อแม่ให้โอกาสเธอไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความสะดวกสบาย ทั้งตระหนักในสติปัญญาความเฉลียวฉลาดของเธอในเรื่องการเรียน แม้ยากลำบากขนาดไหนพ่อแม่ส่งเสียเงินค่าเล่าเรียนให้โดยไม่เคยบ่นว่า นี่เป็นความโชคดีที่ได้ก้าวเดินมาจนถึงวันนี้ ความทุกข์โศกเศร้าใจอาจจะเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกเหมือนพ่อแม่ไม่ได้รักใคร่เธอ จึงได้ส่งเธอไปอยู่กับปู่ย่า ถึงเวลาก็เรียกกลับ ความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปเกือบสิบปี  คือสิ่งที่เรียกว่า  “ความรัก” ที่ “เปลวยังไม่เคยได้ยินจากปากพ่อแม่นั่นเอง!

ในความเงียบระหว่างพ่อแม่และลูก ๆ นั้น เราอาจได้ยินเพียงจดหมายที่ “เปลวเขียนระบายความในใจ แต่จะมีใครเข้าใจถึงความทุกข์ ความบาดเจ็บของคนเป็นพ่อแม่ ใครบ้างจะเข้าถึงความรู้สึกของพ่อแม่ที่เริ่มสร้างครอบครัว  มีลูกคนแรกและคนที่สองที่สามตามมา  เป็นความรักความภูมิใจของพ่อแม่ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า เลี้ยงไว้ทั้งหมดจะทำให้ลำบากกันหมด การส่งไปอยู่กับปู่ยาจะด้วยข้อเสนอ ข้อตกลง  หรือการให้ความช่วยเหลือของพ่อแม่ และเพื่อไม่ให้ลูกกลายเป็นภาระมากเกินไปสำหรับปู่ย่า ลูกคนโตที่พอจะช่วยตนเองได้ คือคนที่พ่อแม่ให้โอกาสไปอยู่กับปู่ย่า แต่ความสะดวกสบายที่เปลวได้รับ กลับกลายเป็นความเคยชินและทำให้ไม่ต้องการจะกลับมาอยู่กับพ่อแม่ท่ามกลางความยากลำบากของครอบครัว ที่สำคัญปู่ย่าเริ่มชรา อาจไม่ต้องการจะดูแลเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นต่อไป หรือพ่อแม่อาจต้องการให้ลูกสาวกลับมาช่วยดูแลน้องบ้าง จึงไปรับเปลวกลับมาบ้าน โดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ ทำให้เปลวเข้าใจว่า  พ่อแม่รับเธอกลับเพราะต้องการใช้ประโยชน์จากแรงงานของเธอ การไปอยู่กับปู่ย่าท่ามกลางความสบาย ไม่ได้ทำให้เธอตระหนักถึงความทุกข์ ความยากลำบากของครอบครัวพ่อแม่และน้องเล็ก ๆ อีกสามคน หรือคิดมีเมตตาอยากช่วยเหลือ แต่เธอกลับคิดว่า เธอคุ้นเคยกับชีวิตสบายแบบนั้น และเธอมีสิทธิ์จะอยู่อย่างนั้นต่อไป การกระทำของพ่อแม่กลายเป็นความผิดที่เปลวเหมือนจะอภัยให้ไม่ได้

แหละในขณะที่พ่อแม่แลเห็นสติปัญญาของ “เปลวว่าสามารถเรียนสูง ๆ ต่อไปได้ ถึงจะลำบากขนาดไหนพ่อแม่ไม่เคยบ่น จะเห็นว่าเปลวขอเงินเป็นค่าเรียนค่าใช้จ่ายเท่าไร พ่อแม่ไม่เคยปฏิเสธหรือบอกว่าไม่มี  แม้ลูกจะทำตัวเพิกเฉยไม่สนใจไม่จำเป็นก็ไม่พูดกับพ่อแม่  พ่อแม่ก็ไม่โกรธไม่ดุว่าในพฤติกรรมส่วนตัวเหล่านั้น พ่อแม่มุ่งมั่นในการดูแลคุ้มครองลูกสาวคนโตโดยไม่ปริปากบ่น และนั่นคือความปรารถนาสูงสุดของพ่อแม่ที่อยากเห็นลูกประสบความสำเร็จ 

อย่างไรก็ตาม ถึงจะได้เรียนสูงขนาดไหน แต่หัวใจที่บาดเจ็บและยังไม่ได้รับการบำบัดเยียวยา อาจนำพาให้ชีวิตของ “เปลวแม้จะก้าวไกลไปมากแค่ไหน แต่ลึก ๆ ลงไปในใจ การที่เธอยังไม่ได้ให้อภัยพ่อแม่   หรือรับรู้ถึงความรักของพ่อแม่ ย่อมเป็นการยากที่เธอจะมีความสุขในการดำเนินชีวิตได้จริง ๆ 

ผู้อ่านที่ติดตามเรื่องนี้มา จะพบว่าครอบครัวจำนวนมากในสังคมไทย  กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากปัญหาในครอบครัวของ “เปลว” หลายคนอาจรู้สึกเสียดายที่ “เปลว” แม้จะเป็นเด็กฉลาดแต่ขาดเฉลียว  หรือเป็นผู้ที่มีสมองในการเรียนหนังสือได้ดี  แต่ขาดความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล  นั่นอาจเป็นเพราะเธอขาดคนที่จะพูดคุย อธิบาย หรือชี้แนะ นอกเหนือจากการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ที่ไม่มีทักษะในการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ


กลับด้านบน