มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ปรึกษาปัญหาชีวิต และโรคเอดส์ โทรฟรีทั่วประเทศ

แม่เลี้ยงเดี่ยว

15 ธันวาคม 2563
แม่เลี้ยงเดี่ยว

“ดิฉันตั้งครรภ์ 7 เดือนแล้ว มีปัญหากับพ่อของเด็กจนต้องเลิกกัน ดิฉันไม่เสียใจเรื่องผู้ชายที่เดินจากไป แต่จะขอคำปรึกษาเรื่องลูกที่กำลังจะเกิดมา เวลาจะแจ้งเกิด ไม่ต้องใส่ชื่อพ่อได้ไหม เวลาลูกถามจะบอกลูกอย่างไรให้ลูกไม่รู้สึกด้อยกว่าคนอื่น

ที่ผ่านมาในอดีต การที่ผู้หญิงจะตั้งครรภ์โดยไม่มีพ่อเด็ก หรือไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือไม่มีการหมั้นหมาย ไม่มีผู้ใหญ่รับรู้อย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนในสังคม  โดยเฉพาะหากพ่อแม่หรือครอบครัวเป็นกลุ่มบุคคลมีหน้ามีตา  มีสถานภาพทางสังคมเป็นที่รู้จัก การตั้งครรภ์ของลูกหลานในครอบครัวโดยไม่มีการสู่ขอแต่งงาน  ถือเป็นเรื่องเสื่อมเสียชื่อเสียง  นำความอัปยศอับอายมาสู่พ่อแม่และวงศ์ตระกูล ปัญหาการหลบซ่อนตัวจนคลอดแล้วยกให้คนอื่น หรือการไปแอบทำแท้งโดย “หมอเถื่อน” กลายเป็นตราบาปในครอบครัวนั้น ๆ ที่สำคัญ เด็กที่เติบโตขึ้นโดยไม่มีบิดารับรอง หรือมีตัวตนที่ชัดเจน  อาจรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย ไม่เป็นที่ยอมรับไม่มีคุณค่าในสังคม

แม้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จะได้มีการพูดคุยถึงปัญหาการตั้งครรภ์ของผู้หญิงในขณะที่ยังไม่พร้อม   ก็น่าจะมีการปรับเปลี่ยนพัฒนากฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้  ซึ่งกฎหมายเดิมได้ระบุไว้เพียงไม่กี่ข้อ   เช่น กรณีที่การตั้งครรภ์นั้น อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงถึงชีวิตของแม่ หรือของเด็กในครรภ์เท่านั้นจึงจะทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย

ส่วนกรณีที่ตั้งครรภ์  เพราะขาดการป้องกันควบคุมในขณะที่ผู้หญิงยังไม่พร้อม   ผู้หญิงก็ต้องรับภาระในการอุ้มครรภ์จนคลอด ตลอดจนการดูแลเลี้ยงดูบุตรหลังจากนั้น  สถานการณ์นี้ดูจะไม่เปลี่ยนแปลงตลอดหลายสิบปี แม้ทัศนคติและพฤติกรรมของหญิงชายไทยจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะป้องกันไม่ให้ผู้หญิงตั้งครรภ์เมื่อยังไม่พร้อม อย่างไรก็ตามถึงกฎหมายจะยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ทัศนคติ  ความเชื่อ พฤติกรรมของประชาชน ตลอดจนสถานภาพของผู้หญิงไทยที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป เมื่อผู้คนมีการศึกษาเพิ่มขึ้น ผู้หญิงมากมายได้ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตนเอง  ตลอดจนความสามารถในการทำมาหากินพึ่งพิงตนเองได้มากขึ้น  ทำให้สามารถเลือกที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเอง  โดยเฉพาะกรณีที่มีครรภ์  ถึงฝ่ายชายจะไม่ยอมรับหรือไม่ช่วยเหลือ  แต่ผู้หญิงสามารถจะตัดสินใจเลือกวิถีทางของตนเองและกับเด็กในครรภ์ได้  ดังกรณีของหญิงสาวที่ปรึกษามาข้างบนนี้

เช่นกัน   ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้หญิงชายได้เลือก  หรือตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ตนเองต้องการได้  โดยเฉพาะผู้หญิงจำนวนมากในปัจจุบัน  เลือกที่จะไม่แต่งงานมีคู่ครอง  แต่อยากมีบุตร หรือต้องการเลี้ยงดูบุตรที่เกิดจากการทำกิ๊ฟ  หรือให้เครือญาติหญิงเป็นผู้ตั้งครรภ์แทน ที่เรียกกันว่า “อุ้มบุญ”  นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งการดูแลสุขภาพหรือร่างกายของ “แม่”  และ “ลูก” ในครรภ์  ส่วนใหญ่ สูตินารีแพทย์ จะคอยช่วยเหลือดูแลแนะนำการปฏิบัติตนของผู้หญิงอยู่แล้ว หากผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็น “แม่”  ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร   

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูบุตร  ไม่ว่าจะได้ชื่อว่ามีพ่อแม่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา หรือลูกอยู่กับแม่หรือกับพ่อตามลำพัง  ที่เราเรียกกันว่า  “แม่เลี้ยงเดี่ยว” นั้น  ในแต่ละครอบครัว  หากแม้นจะมี “สูตร” การเลี้ยงเหมือน ๆ กันก็ใช่ว่า “ลูก” จะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหาเหมือน ๆ กัน การเลี้ยงดูบุตรจึงไม่มีสูตรเฉพาะ แต่การปูพื้นฐานด้านสุขภาพจิตให้กับเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนคลอดออกมาสามารถทำได้ เด็กจะได้เรียนรู้ในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดระยะเวลาของการเจริญเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลเลี้ยงดูตนเองได้ต่อไป  ทั้งนี้ถึงการเลี้ยงดูบุตรจะไม่ใช่เรื่องยาก  แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหมือนเช่นการเลี้ยงดู “สัตว์โลก” ทั่วไป ที่ส่วนใหญ่เมื่อแม่คลอดลูกออกมา  ไม่นานลูก ๆ เหล่านั้นก็สามารถช่วยเหลือตนเองได้  ในขณะที่ลูกคนหรือมนุษย์  หลังจากเก้าเดือนในท้องแม่ที่ต้องดูและประคบประหงมอย่างใกล้ชิด  จนเมื่อคลอดออกมาก็ยังช่วยตนเองไม่ได้  พ่อแม่ต้องอุ้มชู้ป้อนข้าวป้อนน้ำทำให้ทุกอย่าง  ทั้งส่งเสริมด้านการศึกษาอีกหลายปีกว่าจะเติบโตเพียงพอจะเลี้ยงดูช่วยเหลือตนเองต่อไปได้  เพราะฉะนั้นการเลี้ยงดูเด็ก ๆ ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์จนเติบใหญ่ จึงเป็นเรื่องรายละเอียดที่มนุษย์ที่เป็นพ่อแม่ไม่ควรจะมองข้ามไป โดยเฉพาะการที่เด็กจะต้องเกิดมาพร้อมกับคำถาม  ถึงข้อจำกัด  และข้อกังขาของเขา ว่าอะไรทำให้เขาต้องเป็นหรือตกอยู่สภาพเช่นนี้

คำถามจากสุภาพสตรีท่านนี้ที่ว่า  

“ดิฉันตั้งครรภ์ 7 เดือนแล้ว มีปัญหากับพ่อของเด็กจนต้องเลิกกัน ดิฉันไม่เสียใจเรื่องผู้ชายที่เดินจากไป แต่จะขอคำปรึกษาเรื่องลูกที่กำลังจะเกิดมา เวลาจะแจ้งเกิด ไม่ต้องใส่ชื่อพ่อได้ไหม เวลาลูกถามจะบอกลูกอย่างไรให้ลูกไม่รู้สึกด้อยกว่าคนอื่น

ฟังดูเป็นคำถามสั้น ๆ ตอบได้ง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีคำถามอีกมากมายจากตัวผู้หญิงเอง  ที่จะสะท้อนว่า  เธอได้ก้าวข้ามความรู้สึกทุกข์ เสียใจ เจ็บปวด สูญเสีย  หรือ รู้สึกผิดกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว หรือยังอยู่ในภาวะ พยายามจะลืม พยายามทำใจ  หรือเธออาจกำลังพยายามจะกลบเกลื่อนความรู้สึกสับสนขัดแย้งนั้นไว้  การจะป้องกันไม่ให้เธอหลอกตัวเอง  หรือตกเป็นเหยื่อความรู้สึกของตนเอง  หรืออาจต้องเผชิญกับคำถามจากลูกเมื่อโตขึ้น  ผู้เป็นมารดาควรมีโอกาสได้รับคำชี้แนะจากจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเพื่อสร้างพลัง  กำลังใจ และเรียนรู้ที่จะเข้าใจกลไกทางจิต เมื่อชีวิตตกอยู่ในช่วงวิกฤติการณ์  ที่สำคัญคือ  เพื่อยืนยันความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองว่า “ไม่เสียใจเรื่องที่ผู้ชายเดินจากไป” หรือ  “ดิฉันเป็นฝ่ายเลือกที่จะก้าวออกมา!” เป็นต้น

การที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องการจะเรียนรู้ในการเลี้ยงดูลูกของเธอ  เริ่มด้วยการเรียนรู้ที่จะ “เข้าใจตนเอง” เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและอดีตคนรัก ว่าเป็นการตัดสินใจของทั้งสองฝ่ายหรือที่สำคัญคือฝ่ายหญิงแน่ใจและมั่นใจว่า การที่ต่างคนต่างอยู่หรือแยกทางกัน เป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ และเธอไม่รู้สึกผิดหรือเสียใจกับการแยกทางกันครั้งนี้ ไม่ว่าเธอและเขาจะยังรักกันหรือไม่ การ “เคลียร์”ใจตนเอง จะช่วยให้เธอรู้สึกถึงความสงบ ความพึงพอใจ เพิ่มพลังใจ ในการดำเนินชีวิตด้วยตนเอง  พร้อมกับการเลี้ยงดูบุตรตามลำพังต่อไป

ในการเลี้ยงดูบุตร ทุกคนรู้ดีว่าเด็ก ๆ ต้องการทั้ง  “พ่อและแม่” ทั้งแรงกายและแรงใจ  แต่เมื่อมีเพียง “แม่” หรือ “พ่อ” คนเดียว เด็กอาจเติบโตขึ้นด้วยความรู้สึก “ขาดหาย” หรือรู้สึกว่ามีบางอย่างบางคนหายไปจากชีวิตของเขา จากการเรียนรู้ที่โรงเรียน กับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ เด็กก็จะเริ่มถาม หรือมองแม่ด้วยสายตามีคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับผู้ชายคนนั้น และเขาหายไปไหน?” หรือ “พ่อของหนูอยู่ไหน?

เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงวันที่คุณแม่เหมือนตกเป็นผู้ต้องหาของลูก หรือภาวะที่เด็กเชื่อว่า “ความลับไม่มีในโลก!” แม่บอกมาพ่อหนูอยู่ที่ไหน? การที่ครอบครัวหนึ่ง คุณพ่อ หรือคุณแม่อาจกลายเป็น “แม่เลี้ยงเดี่ยว” โดยไม่ได้สมัครใจ หรืออาจเกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุที่ไม่มีใครควบคุมได้ และอาจเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับครอบครัวจำนวนมาก ซึ่งถึงจะไม่ต้องการ ไม่มีเจตนา แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว  กลายเป็นสถานการณ์ที่ต้องเรียนรู้ ที่จะอยู่กับผลที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น

 

“ภรณ์”  หญิงสาววัย 29 ปี เพิ่งเสียสามีจากอุบัติเหตุไปไม่นาน  เธออาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่จังหวัดภาคเหนือ ส่วนสามีอยู่ระหว่างการย้ายโอนเพื่อมาทำงานที่ภาคเหนือ ระหว่างนั้นเธอตั้งครรภ์ได้ไม่นาน  สามียังทำงานอยู่กรุงเทพฯ และต้องขับรถขึ้นลงเพื่อมาอยู่กับเธอทุกสุดสัปดาห์ แต่คราวเคราะห์ที่สัปดาห์นั้นเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนกัน   โดยที่เธอเพิ่งจะตั้งครรภ์ได้สามเดือน  และถึงขณะนี้อีกสองเดือนข้างหน้า  ลูกจะถึงกำหนดลืมตาขึ้นมาดูโลก แต่...ลูกจะไม่มีโอกาสได้พบหน้าพ่อของเขา

“ภรณ์”   บอกว่า  ตั้งแต่สามีจากไป  ทุกเช้าที่ลืมตาขึ้น  เธอรู้สึกทุกอย่างรอบ  ๆ  ตัวดูซึมเศร้า โลกเหมือนเป็นสีเทา ไม่มีเสียงหัวเราะของเขากับเธอ เวลาแห่งความสุขที่แบ่งปันกันหลายปีตั้งแต่แรกรักจนแต่งงานเป็นสามีภรรยากลายเป็นเพียงความทรงจำ    โดยเฉพาะความปรารถนาที่จะมีลูก  ทุกครั้งที่ลูบครรภ์ที่นับวันขยายใหญ่ขึ้น กลับดูจะยิ่งเตือนใจให้รู้สึกโศกเศร้ามากยิ่งขึ้น  เป็นความทุกข์ความรู้สึกว่างเปล่าสำหรับตนเองและลูกน้อยที่จะต้องเดินด้วยกันโดยลำพัง  หลาย ๆ ครั้งจึงรู้สึกเหมือนเราหมดความสามารถจะก้าวต่อไป แล้วก็ใช้น้ำตาเป็นเพื่อนปลอบใจ 

เธอบอกว่า  ไม่ว่าเช้า  สาย บ่าย ดึก  เมื่ออยู่ตามลำพังเธอก็จะร้องไห้ คร่ำครวญถึงสามีตลอดมา แต่เมื่อผู้เขียนแย้งว่า  เธอไม่ได้อยู่ตามลำพัง  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป  ไม่ว่าเธอจะ รู้สึกทุกข์หรือสุข  เธอมีลูกอยู่เคียงข้าง  และไม่ว่าเธอจะรู้สึกอย่างไร  ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะรับรู้ ดูดซับ หรือซึมซับโดยลูกเสมอแม้ว่าลูกจะยังอยู่ในครรภ์ นั่นหมายความว่า  หากเธอเศร้า  ลูกก็จะเศร้า  หากเธอรู้สึกหนักแน่นมั่นคง  รู้สึกสงบหรือสุขุมลึกซึ้ง  ลูกก็จะรู้สึกถึงอารมณ์เหล่านั้นจากเธอ  และยิ่งนานวัน ตลอดระยะเวลาของการเจริญเติบโต  ลูกก็จะค่อย ๆ สะสมอารมณ์ความนึกคิดเหล่านั้นจากผู้เป็นมารดา  คำถามจึงอยู่ที่ว่า  แม่อยากให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างไร อยากให้ลูกมีอาการซึมเศร้า มองโลกในแง่ลบ  หรืออยากให้ลูกมีความเข้มแข็ง  อดทน มองเห็นความสวยงามในโลกนี้ ไม่ว่าชีวิตของลูก ของคนที่เป็นแม่หรือครอบครัว  จะทุกข์ยากแค่ไหน แต่หากทุกคนมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง  ต่อผู้อื่น และต่อโลกนี้  ปัญหาต่าง  ๆ  ก็สามารถจะแก้ไขหรือมองข้ามไปได้ นั่นคือต้องไม่ปล่อยให้ตนเองหมกมุ่นหรือเป็นเหยื่อของตนเอง     

แน่นอน  สำหรับคนที่เกิด เติบโตภายใต้พระพุทธศาสนา  เราต่างได้รับการอบรมสั่งสอนว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว  หรือการเกิดมาในโลกนี้  ในชีวิตนี้  เป็นผลแห่งการกระทำของเราเองที่ผ่านมา  ไม่มีใครสามารถจะแก้ไขได้  เมื่อเราแต่งงานมีสามี  มีความสุข  อยากจะให้ความสุขนั้นอยู่กับเราชั่วกาลนาน   แต่เพียงไม่นาน  สิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น  ก็อาจจะเกิดขึ้นได้กับผู้คนมากมาย  ความสูญเสียบุคคลที่เรารักและรักเรา   หรือต้องประสบพบสิ่งที่เราไม่พึงปรารถนา  ทุกอย่างถูกกำหนดไว้ด้วย  “กรรม”  หรือการกระทำที่ผ่านมา  ซึ่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้  แต่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า   แต่มนุษย์สามารถทำให้ความทุกข์จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นลดลงได้  ด้วยการกระทำของตนเอง  หรือปล่อยให้ความทุกข์นั้นผ่านไปหากเราสามารถจะยอมรับความทุกข์นั้นได้ว่าเป็นเรื่องอนิจจัง เพราะชีวิตของมนุษย์เราเป็นเรื่องอนิจจัง หรือไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน หรือที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน!

และถึงทุกคนไม่ต้องการประสบพบกับความทุกข์  แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราต้องถามตนเองว่า  เราต้องการที่จะอยู่หรือจมไปกับความทุกข์  หรือเราต้องการที่จะเอาชนะ  หรือจำกัดขอบเขตของความทุกข์ไม่ให้มันทำร้าย  ทำลาย  หรือดึงความสวยงามในโลกนี้ไปจากเรา  และถึงเราจะป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดกับเราไม่ได้  แต่เราก็สามารถละวางความทุกข์นั้นไม่ให้ทำร้ายตัวเรามากไปกว่าเดิม หรือกำหนดเส้นทางชีวิตใหม่ให้พรั่งพร้อมด้วยความสุขอย่างที่เราต้องการ  แม้จะไม่เหมือนเดิมไม่เท่าเดิม   แต่ไม่ได้หมายความว่า  เมื่อมีทุกข์แล้ว  เราจะมีความสุขต่อไปไม่ได้   ความสุขเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา  และฝึกหัดเหมือนการเล่นไวโอลิน   ยิ่งฝึกฝนยิ่งชำนาญ

เพราะฉะนั้น  ไม่ว่าชีวิตเราจะต้องประสบพบเห็น  ความสุข ความทุกข์   สูญเสีย หรือสุขบ้างทุกข์บ้าง  ก็เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกนั้นด้วยความกล้าหาญ  และกำหนดเส้นทางชีวิตของเรา  ของลูก  หรือคนรัก  คนใกล้ชิด ด้วยตัวเราเอง

เช่นกัน...คุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ท่ามกลางความโศกเศร้าสูญเสีย เราจะปล่อยให้ความทุกข์โศกกลายเป็นมรดกบาปที่ตกทอดถึงลูกของเราต่อไปหรือ?  ในฐานะของคนที่เป็น “แม่”  เป็นหน้าที่ที่จะต้องปกป้องและช่วย “สร้าง”  โครงร่างของเส้นทางแห่งความสุขให้ลูกเดิน แม้พ่อแม่อาจจะไม่สามารถทำให้ได้ทั้งหมดอย่างที่หวัง  แต่อย่างน้อยการเสริมสร้างพลังให้ลูก  ก็เหมือนการสร้างเสริมพลังใจให้แก่ตนเองเช่นกัน ที่สำคัญ ในช่วงเวลาแห่งความรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียว  ว้าเหว่เงียบเหงาเดียวดาย ไม่มีคนใกล้จะพูดคุยให้ระบายความในใจ แต่ลูกในท้อง คือเพื่อนที่ใกล้ชิดที่สุดขณะนี้  แม้จะพูดสื่อสารโต้ตอบไม่ได้โดยตรง   แต่ก็ช่วยให้แม่มีโอกาสพูดระบายความรู้สึก  และลูกในครรภ์ได้ฝึก “ฟัง”  ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

แหละเมื่อแม่อยากจะสื่อสารกับลูก  อยากให้ลูกได้รู้จัก มองเห็น  หรือรู้สึกถึงความดีงามในโลกนี้ ผ่านทางสายตาและทัศนคติความคิดของผู้เป็นแม่  นั่นหมายความว่า แม่  ก็จะต้องคิด รู้สึก  สัมผัส  และมองเห็นถึงความดีงาม  ตลอดจนความงดงามในโลกนี้เพื่อส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกไปทางสายใย (สายสะดือ)  ที่เชื่อมต่อชีวิตจิตใจระหว่างแม่กับลูก

ในอดีตแม้คนไทยสังคมไทย ไม่ได้เขียนหรือบันทึกเรื่องราวระหว่างความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนพฤติกรรมของแต่ละบุคคลไว้เป็นตำราทางจิตวิทยา แต่คนไทย ครอบครัวไทย พ่อแม่รุ่นเก่า ๆ ในสังคมไทยก็ได้ถ่ายทอด  ความรู้ทางด้าน “จิต” ไว้ในกาพย์ โคลง กลอน ตลอดจนคำสั่งสอนด้วยภาษาง่าย ๆ โดยวิธีเปรียบเทียบพฤติกรรมและการกระทำของผู้คนในแต่ละยุค แต่ละสมัยเอาไว้  เช่น  ถ้าพ่อแม่ต้องการให้ลูกในท้องเกิดมาแล้วมีสุขภาพจิตที่ดี  พ่อแม่  หรือแม่ก็ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองให้ใจเย็นเข้าไว้  สามีภรรยาหรือพ่อแม่เด็กต้องรักใคร่กลมเกลียวกัน  พูดจากันด้วยคำพูดที่สุภาพ  ใช้ภาษาไพเราะ มีอารมณ์ขัน  ใจเย็น  อดทน  มีความขยันหมั่นเพียร   และละเว้นการทะเลาะเบาะแว้ง  ลูกเกิดมาจะได้เป็นคนสุภาพ เรียบร้อย  ไม่ก้าวร้าววู่วาม  หากพ่อแม่พูดคุยกันอย่างมีเหตุมีผล  ลูกก็จะดูดซับอารมณ์ความรู้สึกดี  ๆ  เหล่านี้จากพ่อแม่  โดยเฉพาะทัศนคติในการมองโลกในทางบวกหรือสร้างสรรค์ เช่นกัน หากผู้เป็นแม่มีอารมณ์โศกเศร้า หม่นหมอง  มองโลกด้วยความหวาดกลัว  เกลียดชัง  ผิดหวัง  รู้สึกผิด  เป็นต้น  เมื่อเด็กคลอดออกมา  อาจจะเลี้ยงยาก  งอแง  เพราะเด็กในท้องขาดความมั่นใจในสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ  โดยเฉพาะความรู้สึกหวาดกลัว ไม่มั่นคง ที่อาจได้รับ หรือซึมซับเอาอารมณ์นั้น ๆ  จากมารดาตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์

 ปัจจุบันนักวิชาการจากประเทศตะวันตก ผ่านทางการศึกษาและวิจัยด้าน “จิต” ตลอดจน “พฤติกรรม” ของผู้คนในสังคมจนสามารถเรียบเรียงเขียนเป็นตำราวิชาการ  ที่ถูกนำใช้ในการสอน  และเป็นแนวทางในการวิเคราะห์เรื่องราวที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทั้งดีและร้าย เพื่อนำไปสู่การค้นหาแนวทางในการปรับเปลี่ยน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจาก ความคิด  จิตใจ และพฤติกรรมในมนุษย์  ทำให้ความรู้ความเข้าใจด้านจิตวิทยาเหล่านั้นได้ถูกนำมาถ่ายทอด และแพร่หลายในทุกประเทศทางอาเซียตะวันออกด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ  หนึ่งในความรู้ด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกในครรภ์  ได้ถูกนำมาเผยแพร่ให้ได้มีการศึกษาด้วยความเชื่อที่ว่า  ทัศนคติ  ความคิด  ความเชื่อ ที่นำไปสู่พฤติกรรมและการกระทำของแต่ละบุคคลนั่น  ได้รับการถ่ายทอดและซึมซับจากแม่สู่ลูก  ผ่านทาง “สายสะดือ” ที่เชื่อมโยงระหว่าง “แม่มายังลูก”  และเพื่อป้องกัน  ส่งเสริมสนับสนุนให้ เด็กที่เกิดมา  มีสุขภาพจิตที่ดี  เพื่อจะเป็นภูมิคุ้มกัน และนำทางเขาไปสู่วิถีชีวิตที่สร้างสรรค์ต่อไป   ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของพ่อแม่หรือบรรพบุรุษในประเทศเอเชียที่ปลูกฝัง แนะนำแนวทางในการเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่ยังเล็ก ๆ จนเติบใหญ่ไม่ต่างจากทฤษฎีฝรั่ง

การที่แม่สูญเสียพ่อจากอุบัติเหตุดังเช่นกรณีข้างบนนี้  ไม่ได้หมายความว่า  ลูกที่เกิดมาจะต้องเผชิญความสูญเสียเช่นมารดาเสียสามีด้วยเช่นกัน  แต่การบอกเล่าเรื่องราว  ทำให้เด็กได้เรียนรู้จักชีวิตด้วยว่า ความประมาท  อาจนำไปสู่การสูญเสีย  การดำเนินชีวิตจึงต้องมีความระมัดระวังให้มากขึ้น เพื่อไม่ทำให้เกิดความสูญเสียต่อไปไม่ว่ากับใคร    และไม่ว่าผู้เป็นมารดาจะรู้สึกโศกเศร้ามากแค่ไหน  แต่การพูดให้กำลังใจ ให้ความเข้าใจแก่ลูก  ๆ  จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเติบโตเรียนรู้ในการดำเนินชีวิตด้วยความกล้าหาญ  เข้มแข็ง  อดทน  และมีความฝันว่าจะได้ใช้ชีวิตอย่างงดงามตามที่ตนต้องการได้

นั่นหมายความว่า  การพูดคุยสื่อสารระหว่าง “แม่และลูก” เป็นเรื่องจำเป็น และยิ่งเริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์  ก็จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่นมากยิ่งขึ้น เพราะการพูดเมื่อไร และพูดอะไร ที่จะช่วยให้ลูก ๆ  ได้รับรู้ว่า  พ่อกับแม่รักกันมากแค่ไหน จนนำไปสู่การใช้ชีวิตคู่ และการเริ่มมีลูกเพื่อสร้างครอบครัว  และแม้วันนี้ไม่มีพ่อหรือแม่  ก็ไม่ทำให้ความรักที่ทั้งสองมีต่อลูกจะลดน้อยลง  แต่กลับมากยิ่งขึ้น เพราะความรักที่ยังอยู่คือเกราะปกป้องคุ้มครองชีวิตของแม่และลูกต่อไป

ที่สำคัญ  เพราะความรักนั้นจะพาให้  “เราแม่ลูก” สามารถฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นกับเราต่อไปได้  เพราะความรักที่  “พ่อแม่ลูก” มีต่อกันจะช่วยสานฝัน ให้เราสามารถก้าวต่อไปได้ไม่ว่าชีวิตข้างหน้าจะทุกข์ยากเพียงใด  เพราะในความเป็นพ่อแม่ย่อมปรารถนาจะเห็นลูกเติบโตอย่างกล้าหาญอดทน เข้มแข็งและสามารถสร้างสรรค์ชีวิตของตนเองให้ดำเนินต่อไปได้อย่างมีความสุข  ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกต้องจมอยู่กับความสูญเสีย  หรือได้ชื่อว่าเป็นผู้แพ้ตลอดไป   

 การตั้งหลักของแม่ที่ให้กับลูก เริ่มจากความปรารถนาจะให้ลูก   ได้รับรู้ถึงความรักความสุขระหว่างพ่อกับแม่ก่อนที่จะมี “ลูก”  มาเป็นเพื่อน  การพูดคุยเล่าเรื่องราวของความสุข ขณะที่ลูกยังอยู่ในท้อง  พร้อมกันแม่ก็ลูบไล้ครรภ์ที่เปรียบเสมือนอู่นอนของลูก  ให้ลูกได้ซึมซับสัมผัสของแม่และได้ยินเรื่องราวด้วยเสียงอันเปี่ยมด้วยความสุขของแม่  การสื่อสารที่ผ่านสายใยแห่งความรักจากสัมผัส  สายสะดือ  และเสียงช่วยทำให้ลูกน้อยสุข สงบ และดื่มด่ำกับความสุขจากมารดา  ทำให้เด็ก ๆ ได้ตระหนักถึงเรื่องราวที่เปรียบเสมือนการผจญภัย  ที่ประกอบด้วยความสุข ทุกข์  ตื่นเต้น  และท้าทาย  ที่จะเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปตั้งแต่ลูกเริ่มลืมตาดูโลกและก้าวเดินต่อไปจนเติบใหญ่ จนถึงบั้นปลายทาง  ชีวิตมีความงดงามในตัวของมันตลอดเวลา  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น   ทุกปรากฏการณ์ล้วนแต่เป็นเสน่ห์ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคน

แหละที่กล่าวมา คือส่วนสำคัญที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชีวิตของลูก  ๆ  เพื่อให้ลูกเติบใหญ่ขึ้นมาโดยไม่มีปมด้อยหรือต้องจมอยู่กับความเสียใจ หากชีวิตจะต้องมีทุกข์บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาของคำว่า  “ชีวิต!


กลับด้านบน